เกี่ยวกับสาขา
สาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน เดิมคือสาขาวิชาเทคโนโลยีชนบท เปิดสอนปีแรกเมื่อปี พ.ศ. 2532 ในคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งพัฒนามาจากแนวคิดในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) ของผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศกลุ่มหนึ่งที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนากำลังคนและงานศึกษาวิจัยทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาชนบทที่อยู่บนฐานของการพึ่งตนเองได้ จากการที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการส่งออกเป็นหลักมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) เป็นต้นมา ทำให้การพัฒนากระจุกตัวในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เกิดการนำเข้าเทคโนโลยีและการใช้เทคโนโลยีอย่างไม่เหมาะสม ส่งผลให้สภาพแวดล้อมและสังคมทั้งในเมืองและชนบทได้รับผลกระทบมากขึ้นหลักสูตรสาขาวิชาเทคโนโลยีชนบทจึงได้ก่อตั้งขึ้นและเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทยที่เป็นเชิงสหวิทยาการฐานวิศวกรรม เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม และพัฒนากำลังคนให้รู้จักวิเคราะห์ คัดเลือกและดัดแปลงเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาชนบทบนฐานของการพึ่งตนเอง โดยเริ่มรับนักศึกษารุ่นแรก ในปี พ.ศ. 2532 จำนวน 24 คน และมีอาจารย์ประจำสาขาวิชาฯ คนแรกปี พ.ศ. 2533 ในช่วง 4 ปีแรก สาขาวิชาฯ มีบุคลากรเพียง 4 คน คือ มีคณาจารย์ทางวิศวกรรมโยธาแหล่งน้ำ และวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จำนวน 3 คน และเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ 1 คน ซึ่งในช่วงแรกยังไม่มีพื้นที่ทำการของสาขาฯ และต้องใช้ห้องปฏิบัติการทั้งหมดจากหน่วยงานภายนอก ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี กระทรวงพลังงาน (ปัจจุบันคือศูนย์ฝึกอบรมปฏิบัติการด้านการจัดการพลังงาน (Mini Plant)) โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นอย่างมาก จากการประสานของรองศาสตราจารย์ ดร.วิชาญ ภู่พัฒน์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยร่างหลักสูตรและวางแผนการจัดการศึกษาในช่วงแรก โดยรักษาการหัวหน้าสาขาฯ ให้ 1 ปี ปี พ.ศ. 2536 ซึ่งเป็นปีที่นักศึกษารุ่นแรกจบหลักสูตร ถือเป็นปีวิกฤติของสาขาวิชาฯ เมื่อมีอาจารย์ลาออก 1 ท่าน กอปรกับเป็นหลักสูตรแนวใหม่คนทั่วไปยังไม่รู้จัก บุคลากรและนักศึกษาขาดขวัญกำลังใจ ในช่วงนั้นมีการปรึกษาหารือระหว่างผู้บริหารคณะ มหาวิทยาลัยและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกถึงทิศทางและอนาคตสาขาวิชาเทคโนโลยีชนบทหลายครั้ง ในที่สุดให้มีการดำเนินการและจัดการเรียนการสอนต่อไป โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สนับสนุนการเรียนการสอน
ต่อมา ปี พ.ศ. 2537 ได้จัดตั้งเป็นภาควิชาเทคโนโลยีชนบท ตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2537 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 111 ตอนพิเศษ ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2537 ซึ่งการจัดการศึกษาที่ผ่านมาสำเร็จด้วยดีพอสมควรในระดับหนึ่ง โดยได้รับความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก และผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และชุมชนชนบท
ในปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ.2547 มีการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างหลักสูตรโดยเชิญวิทยากรจากหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ได้หลักสูตรที่สมบูรณ์ เหมาะสม และทันสมัยเป็นสากลยิ่งขึ้น
ในปี พ.ศ. 2552 มีการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างหลักสูตร และเพื่อให้สื่อความหมายชัดเจนตามปรัชญา วัตถุประสงค์ของสาขา และมีความทันสมัยตามสากลที่นิยมใช้ในวงการวิชาการทั้งในและนอกประเทศ จึงมีการปรับปรุงชื่อหลักสูตรเป็น “เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายังยืน” แทน “เทคโนโลยีชนบท” โดยชื่อ “เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน (Sustainable Development)” สื่อความหมายสอดคล้องตามปรัชญาวัตถุประสงค์ของสาขาฯ “เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และการพึ่งตนเอง” และคำ “การพัฒนายั่งยืน (Sustainable Development)” ใช้ในวงการวิชาการเกี่ยวข้อง “เศรษฐศาสตร์พอเพียง” การพัฒนาชุมชน UNDP และวงการวิชาการต่างประเทศ และคำ “เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน” ใช้ใน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2556 มีการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างหลักสูตรอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 – 2554) ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่ก่อให้เกิดความเข้มแข็งในการพึ่งตนเองของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นในชนบทที่เป็นฐานรากของสังคมโดยใช้ประโยชน์จากศักยภาพของทุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว การมีส่วนร่วมของชุมชน และจากทุน “วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น”ที่มีคุณค่ามีการนำมาต่อยอดผสมผสานกับองค์ความรู้สมัยใหม่ให้เป็นจุดแข็งในการสร้างสรรค์คุณค่าเพิ่มในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
ในปี พ.ศ. 2560 ได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารของคณะฯ โดยเป็นการบริหารแบบรวมศูนย์ที่คณะฯ ทำให้ไม่มีการบริหารระดับภาควิชา หลักสูตรจึงอยู่ภายใต้การบริหารของสาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน และได้มีการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างหลักสูตรครั้งล่าสุด ซึ่งเริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2561 เป็นการปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรครั้งสำคัญเพื่อตอบรับนโยบาย Science Business ของคณะฯ และสถานการณ์โลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศในทุกด้าน มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจทั้งในด้านกระบวนการผลิตและบริการตั้งแต่ในระดับพื้นบ้านจนถึงระดับสูง ตามโมเดล Thailand 4.0 ที่มีวัตถุประสงค์ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจแบบสร้างคุณค่า (value-based economy) ที่มีการเพิ่มมูลค่าและศักยภาพในภาคการผลิตและบริการ ผ่านการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด (New S-Curve) ที่เน้นระบบเศรษฐกิจแบบสร้างคุณค่าและนวัตกรรม ตลอดจนการให้ความสำคัญการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับปัจจัยพื้นฐาน ทุนทางเศรษฐกิจและการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐานทั้งในบริบทของการพัฒนาองค์ความรู้ การประยุกต์เทคโนโลยีทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ โดยประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัล สนับสนุนการเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) และอินเทอร์เน็ตประสานสรรพสิ่ง (Internet of Things – IoT) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมีศักยภาพในการเพิ่มคุณค่ามากขึ้น และการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะในการทำธุรกิจ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี มีความสามารถในการบริหารจัดการและเชื่อมโยงเทคโนโลยีกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน โดยสาขาวิชาฯ มุ่งเน้นการผลิตบุคลากรที่ตอบสนองต่อการขับเคลื่อนนโยบายและเป้าหมายข้างต้น โดยเฉพาะในมิติของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจทั้งในด้านกระบวนการผลิตและบริการ และการจัดการทรัพยากรที่นำไปสู่การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน โดยน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” และ หลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง”มาเป็นรากฐานของการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม การบริหารจัดการชุมชนและธุรกิจที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาชุมชนอนาคตทั้งด้านกายภาพและโครงสร้างพื้นฐาน การผลิต อุตสาหกรรมชุมชน การจัดการทรัพยากร และพลังงานและสิ่งแวดล้อม ตามศาสตร์พระราชา สามารถบูรณาการองค์ความรู้ที่นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมบนฐานของภูมิสังคม ภูมิปัญญาและการสร้างสรรค์ ประยุกต์และจัดการเทคโนโลยีให้มีความเหมาะสมสอดคล้องบริบทและความต้องการของชุมชน สร้างทักษะที่ส่งเสริมสังคมผู้ประกอบการทั้งในด้านเทคโนโลยี สารสนเทศและธุรกิจ เป็นการพัฒนาหลักสูตรในเชิงรุกให้สามารถตอบสนองต่อความความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกและให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล
หลักสูตรทั้งหมด
นักศึกษาทั้งหมด
บุคลากรทั้งหมด
2532-2537
ก่อตั้งสร้างฐาน
สาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน เดิมคือสาขาวิชาเทคโนโลยีชนบท เปิดสอนปีแรกเมื่อปี พ.ศ. 2532 ในคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต่อมา ปี พ.ศ. 2537 ได้จัดตั้งเป็นภาควิชาเทคโนโลยีชนบท ตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัย
2545-2554
ขยายสู่ระดับบัณฑิตศึกษา
สาขาเทคโนโลยีการพัฒนาชนบท เปิดสอนหลักสูตรมหาบัณฑิต ในปี พ.ศ.2545 เป็นปีแรก ต่อมาในปี พ.ศ.2559 มีการเปลี่ยนชื่อสาขาจากเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาชนบน เป็น เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน