เกี่ยวกับสาขา

สาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน 

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

       

            สาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน เดิมคือสาขาวิชาเทคโนโลยีชนบท เปิดสอนปีแรกเมื่อปี พ.ศ. 2532 ในคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งพัฒนามาจากแนวคิดในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529)  ของผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศกลุ่มหนึ่งที่เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนากำลังคนและงานศึกษาวิจัยทางเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาชนบทที่อยู่บนฐานของการพึ่งตนเองได้ จากการที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการส่งออกเป็นหลักมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504-2509) เป็นต้นมา ทำให้การพัฒนากระจุกตัวในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เกิดการนำเข้าเทคโนโลยีและการใช้เทคโนโลยีอย่างไม่เหมาะสม ส่งผลให้สภาพแวดล้อมและสังคมทั้งในเมืองและชนบทได้รับผลกระทบมากขึ้นหลักสูตรสาขาวิชาเทคโนโลยีชนบทจึงได้ก่อตั้งขึ้นและเป็นหลักสูตรแรกในประเทศไทยที่เป็นเชิงสหวิทยาการฐานวิศวกรรม เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม และพัฒนากำลังคนให้รู้จักวิเคราะห์ คัดเลือกและดัดแปลงเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อการพัฒนาชนบทบนฐานของการพึ่งตนเอง โดยเริ่มรับนักศึกษารุ่นแรก ในปี พ.ศ. 2532 จำนวน 24 คน และมีอาจารย์ประจำสาขาวิชาฯ คนแรกปี พ.ศ. 2533 ในช่วง 4 ปีแรก สาขาวิชาฯ มีบุคลากรเพียง 4 คน คือ มีคณาจารย์ทางวิศวกรรมโยธาแหล่งน้ำ และวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จำนวน 3 คน และเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์ 1 คน ซึ่งในช่วงแรกยังไม่มีพื้นที่ทำการของสาขาฯ และต้องใช้ห้องปฏิบัติการทั้งหมดจากหน่วยงานภายนอก ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี กระทรวงพลังงาน (ปัจจุบันคือศูนย์ฝึกอบรมปฏิบัติการด้านการจัดการพลังงาน (Mini Plant)) โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้รับความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นอย่างมาก จากการประสานของรองศาสตราจารย์ ดร.วิชาญ ภู่พัฒน์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยร่างหลักสูตรและวางแผนการจัดการศึกษาในช่วงแรก โดยรักษาการหัวหน้าสาขาฯ ให้ 1 ปี ปี พ.ศ. 2536 ซึ่งเป็นปีที่นักศึกษารุ่นแรกจบหลักสูตร ถือเป็นปีวิกฤติของสาขาวิชาฯ เมื่อมีอาจารย์ลาออก 1 ท่าน กอปรกับเป็นหลักสูตรแนวใหม่คนทั่วไปยังไม่รู้จัก บุคลากรและนักศึกษาขาดขวัญกำลังใจ ในช่วงนั้นมีการปรึกษาหารือระหว่างผู้บริหารคณะ มหาวิทยาลัยและผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกถึงทิศทางและอนาคตสาขาวิชาเทคโนโลยีชนบทหลายครั้ง ในที่สุดให้มีการดำเนินการและจัดการเรียนการสอนต่อไป  โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สนับสนุนการเรียนการสอน

             ต่อมา ปี พ.ศ. 2537 ได้จัดตั้งเป็นภาควิชาเทคโนโลยีชนบท ตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัย เรื่อง การแบ่งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 4 พ.ศ.2537 ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 111 ตอนพิเศษ ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2537 ซึ่งการจัดการศึกษาที่ผ่านมาสำเร็จด้วยดีพอสมควรในระดับหนึ่ง โดยได้รับความร่วมมือจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอก และผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน และชุมชนชนบท

              ในปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ.2547 มีการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างหลักสูตรโดยเชิญวิทยากรจากหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้ได้หลักสูตรที่สมบูรณ์ เหมาะสม และทันสมัยเป็นสากลยิ่งขึ้น

               ในปี พ.ศ. 2552 มีการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างหลักสูตร และเพื่อให้สื่อความหมายชัดเจนตามปรัชญา วัตถุประสงค์ของสาขา และมีความทันสมัยตามสากลที่นิยมใช้ในวงการวิชาการทั้งในและนอกประเทศ จึงมีการปรับปรุงชื่อหลักสูตรเป็นเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายังยืนแทนเทคโนโลยีชนบทโดยชื่อเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน (Sustainable Development)” สื่อความหมายสอดคล้องตามปรัชญาวัตถุประสงค์ของสาขาฯเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม มีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และการพึ่งตนเอง”  และคำการพัฒนายั่งยืน (Sustainable Development)” ใช้ในวงการวิชาการเกี่ยวข้องเศรษฐศาสตร์พอเพียงการพัฒนาชุมชน UNDP และวงการวิชาการต่างประเทศ และคำเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืนใช้ใน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

              ในปี พ.ศ. 2556 มีการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างหลักสูตรอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 – 2554) ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่ก่อให้เกิดความเข้มแข็งในการพึ่งตนเองของประชาชนและชุมชนท้องถิ่นในชนบทที่เป็นฐานรากของสังคมโดยใช้ประโยชน์จากศักยภาพของทุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว การมีส่วนร่วมของชุมชน และจากทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีคุณค่ามีการนำมาต่อยอดผสมผสานกับองค์ความรู้สมัยใหม่ให้เป็นจุดแข็งในการสร้างสรรค์คุณค่าเพิ่มในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันนำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

                 ในปี พ.ศ. 2560 ได้มีการปรับโครงสร้างการบริหารของคณะฯ โดยเป็นการบริหารแบบรวมศูนย์ที่คณะฯ ทำให้ไม่มีการบริหารระดับภาควิชา หลักสูตรจึงอยู่ภายใต้การบริหารของสาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน และได้มีการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างหลักสูตรครั้งล่าสุด ซึ่งเริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2561 เป็นการปรับปรุงโครงสร้างหลักสูตรครั้งสำคัญเพื่อตอบรับนโยบาย Science Business ของคณะฯ และสถานการณ์โลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศในทุกด้าน มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจทั้งในด้านกระบวนการผลิตและบริการตั้งแต่ในระดับพื้นบ้านจนถึงระดับสูง ตามโมเดล Thailand 4.0 ที่มีวัตถุประสงค์ขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจแบบสร้างคุณค่า (value-based economy) ที่มีการเพิ่มมูลค่าและศักยภาพในภาคการผลิตและบริการ ผ่านการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด (New S-Curve) ที่เน้นระบบเศรษฐกิจแบบสร้างคุณค่าและนวัตกรรม ตลอดจนการให้ความสำคัญการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งให้กับปัจจัยพื้นฐาน ทุนทางเศรษฐกิจและการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐานทั้งในบริบทของการพัฒนาองค์ความรู้ การประยุกต์เทคโนโลยีทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ โดยประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัล สนับสนุนการเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) และอินเทอร์เน็ตประสานสรรพสิ่ง (Internet of Things – IoT) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและมีศักยภาพในการเพิ่มคุณค่ามากขึ้น และการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะในการทำธุรกิจ ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี มีความสามารถในการบริหารจัดการและเชื่อมโยงเทคโนโลยีกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน โดยสาขาวิชาฯ มุ่งเน้นการผลิตบุคลากรที่ตอบสนองต่อการขับเคลื่อนนโยบายและเป้าหมายข้างต้น โดยเฉพาะในมิติของการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจทั้งในด้านกระบวนการผลิตและบริการ และการจัดการทรัพยากรที่นำไปสู่การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน โดยน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” และ หลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง”มาเป็นรากฐานของการพัฒนาหลักสูตร ซึ่งให้ความสำคัญกับการเรียนการสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม การบริหารจัดการชุมชนและธุรกิจที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการพัฒนาชุมชนอนาคตทั้งด้านกายภาพและโครงสร้างพื้นฐาน การผลิต อุตสาหกรรมชุมชน การจัดการทรัพยากร และพลังงานและสิ่งแวดล้อม ตามศาสตร์พระราชา สามารถบูรณาการองค์ความรู้ที่นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมบนฐานของภูมิสังคม ภูมิปัญญาและการสร้างสรรค์ ประยุกต์และจัดการเทคโนโลยีให้มีความเหมาะสมสอดคล้องบริบทและความต้องการของชุมชน สร้างทักษะที่ส่งเสริมสังคมผู้ประกอบการทั้งในด้านเทคโนโลยี สารสนเทศและธุรกิจ เป็นการพัฒนาหลักสูตรในเชิงรุกให้สามารถตอบสนองต่อความความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกและให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล

หลักสูตรทั้งหมด

นักศึกษาทั้งหมด

บุคลากรทั้งหมด

2532-2537

ก่อตั้งสร้างฐาน

สาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน  เดิมคือสาขาวิชาเทคโนโลยีชนบท เปิดสอนปีแรกเมื่อปี พ.ศ. 2532 ในคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ต่อมา ปี พ.ศ. 2537 ได้จัดตั้งเป็นภาควิชาเทคโนโลยีชนบท ตามประกาศทบวงมหาวิทยาลัย

2545-2554

ขยายสู่ระดับบัณฑิตศึกษา

สาขาเทคโนโลยีการพัฒนาชนบท เปิดสอนหลักสูตรมหาบัณฑิต  ในปี พ.ศ.2545 เป็นปีแรก ต่อมาในปี พ.ศ.2559 มีการเปลี่ยนชื่อสาขาจากเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาชนบน เป็น เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน